ยุทธวิธีและวาระของผู้ประท้วง ของ การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

การชุมนุมประท้วงที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 15 ตุลาคม จัดขึ้นในภายหลังแกนนำถูกจับกุมจำนวนมาก

กลุ่มผู้ประท้วงไม่มีแกนนำชัดเจน แต่ผู้ประท้วงบางคนโดดเด่นขึ้นมาและมีชื่อปรากฏในสื่อ เช่น อานนท์ นำภา และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งเป็นผู้ปราศรัยบนเวทีและกล่าวข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ให้สัมภาษณ์ว่าเขายินดีที่ขบวนการประท้วงไม่ต้องการผู้นำ และสามารถระดมคนออนไลน์ได้ภายใน 30 นาที[232] การประท้วงในช่วงแรก ๆ นั้นมีสื่ออธิบายว่ามีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ มีการประท้วงโดยใช้สัญลักษณ์ปัญหาสังคมโดยเลี่ยงการกล่าวออกมาตรง ๆ[233] รวมทั้งการพาดพิงถึงวัฒนธรรมป็อป ติ๊กต็อก และทวิตเตอร์ เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ประท้วงนิยมใช้ และน่าจะเป็นครั้งแรกที่การประท้วงได้ลบขอบเขตระหว่างโลกจริงและโลกออนไลน์[234] ผู้ประท้วงมักใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ชุด เกมล่าเกม เพื่อต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ประท้วงถูกประเมินว่าขาดยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกัน และไม่ได้มองการณ์ไกลไปมากกว่าชุมนุมแบบวันต่อวันเท่านั้น ส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุจากการขาดโครงสร้างแบบรวมศูนย์เช่นเดียวกับขบวนการนักศึกษาในพุทธทศวรรษ 2510[235] สมาชิกขบวนการส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างจากการประท้วงบนถนนก่อนหน้านี้ที่ฝ่ายทางการเมืองแย่งชิงอำนาจกัน[232] ในการชุมนุมบางครั้ง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นหญิง ซึ่งต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศและระบบชายเป็นใหญ่[236] ผู้ประท้วงยังใช้ยุทธวิธีศิลปะประท้วง คือ การแบ่งปันไฟล์ภาพหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2[237]

ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในเดือนสิงหาคม 2563 นับเป็นครั้งแรกที่มีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นมองว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าจะลดจำนวนผู้สนับสนุนขบวนการลง แต่หากรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามก็อาจจะทำให้มีผู้กลับมาสนับสนุนขบวนการนี้มากขึ้น[238] ด้านหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงความเห็นว่า ขบวนการอาจต้องขยายวาระทางสังคมหากต้องการให้การประท้วงสัมฤทธิ์ผล[239] แต่หลังจากการเลื่อนการลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน 2563 คอลัมนิสต์บางกอกโพสต์คนหนึ่งเขียนว่า สำนึกเรื่องสาธารณรัฐนิยมเพิ่มสูงสุดในประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน[240] สำหรับข้อเรียกร้องต่าง ๆ นั้น ทัดเทพมองว่าต่างมีความชัดเจนอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องเจรจา[232] ผู้ประท้วงยืนยันว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกตนนั้น "ประนีประนอมที่สุดแล้ว"[241]

หลังการจับกุมผู้ประท้วงคนสำคัญในเดือนตุลาคม 2563 นักวิชาการรัฐศาสตร์คนหนึ่งมองว่า เมื่อขาดแกนนำไปอาจทำให้ขบวนการอยู่นอกเหนือการควบคุมได้ และไม่สามารถริเริ่มทางยุทธศาสตร์ได้[242] ผู้ประท้วงยึดถือคติ "ทุกคนคือแกนนำ" หันไปนิยมสวมเครื่องแต่งกายสีดำเพื่อให้ปลอดภัยและลดความสะดุดตา มีการพกเสื้อกันฝนและร่มโดยส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันสารเคมีที่ตำรวจอาจใช้ ผู้ประท้วงหันไปใช้การสื่อสารแบบเกมป้องปากและภาษามือเนื่องจากไม่สามารถใช้รถติดเครื่องขยายเสียง มีการใช้สื่อสังคมกระจายข่าวสาร กลุ่มแชตดังกล่าวยังเป็นที่สำหรับเลือกจัดการชุมนุมครั้งถัดไปด้วย ด้านขบวนการนักศึกษาย้ายไปใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรม หลังมีข่าวว่าทางการเตรียมใช้อำนาจปิดหน้าเดิมด้วย[243] ในระยะหลัง ผู้ร่วมชุมนุมใช้ร่มต่างโล่ บ้างสวมหมวกกันน็อก แว่นตาและหน้ากากกันแก๊ส และมีการปรับใช้ยุทธวิธีสายน้ำแบบการประท้วงในฮ่องกง[244] หลังการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม แฮชแท็ก #WhatsHappeningInThailand (เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย) มีการใช้มากขึ้น โดยมีการเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลี ในแพลตฟอร์มสื่อสังคมหลายแห่ง เพื่อเรียกความสนใจของประชาคมโลกถึงสถานการณ์ในประเทศ[245]

การสาดสีเป็นวิธีการแสดงออกอย่างหนึ่งที่ผู้ประท้วงเลือกใช้ ซึ่งมีผู้ประท้วงแสดงความเห็นเป็นวิธีการแสดงออกแบบใหม่ ส่วนไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ แสดงความเห็นถึงผู้ที่มองว่าไม่เหมาะสมไว้ว่า "มันคือสังคมดัดจริตเกินไป ในขณะที่ขีดเขียนถนนแล้วโดนวิพากษ์วิจารณ์ หรือใด ๆ ก็ตามที่ทำถนนเลอะเทอะ มองภาพใหญ่เรากำลังโดนกดขี่ และทำให้สังคมสกปรกมากกว่านั้นอีก การขีดเขียนพวกนี้เป็นเรื่องเล็กครับ"[246]

การเงิน

การประท้วงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านการบริจาค[247][248] ซึ่งหลัก ๆ มาจากทราย เจริญปุระ นักแสดง[249][250] และจากแฟนคลับศิลปินเกาหลีในประเทศไทยที่ระดมทุนกัน[251][252] โดยเงินจากกลุ่มหลังนี้ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 มียอดรวมกว่า 3.6 ล้านบาท[253] นอกจากนี้ยังมีการเดินถือกล่องเพื่อเรี่ยไรเงินบริจาคด้วย[254] ส่วนปกรณ์ พรชีวางกูร​ เปิดตัวเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินของผู้ประท้วงอีกคนหนึ่ง แต่แถลงว่าจะไม่ชี้แจงที่มาของเงินบริจาค เพราะเป็นเอกชนมาบริจาคให้เอง และการเปิดเผยชื่อจะนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย[208]

มีความพยายามดำเนินคดีต่อผู้บริจาคดังกล่าว[255] และมีข้อกล่าวหาจากกลุ่มนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า การประท้วงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งสถานทูตสหรัฐปฏิเสธ[256]